อริยสัจ 4 กับความสุขของชีวิต
วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่อง “ธรรมะ” กันดีกว่านะครับ ธรรมที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของ “กระบวนการอริยสัจ 4 กับความสุขความทุกข์ของชีวิต” ซึ่งผมนำมาจากหนังสือ “พุทธปรัชญา ในสุตตันตปิฎก” ของ อาจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม ซึ่งเขียนอธิบายไว้อย่างง่ายๆ อ่านแล้วทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น
เป็น กระบวนการเกิดขึ้น และ การดับไปของทุกข์
พระพุทธองค์ ทรงแสดงไว้ในพุทธพจน์ว่า สุขทุกข์ของชีวิตนั้น มิได้เป็นผลของกรรมเก่า หรือการบันดาลของพระเจ้า หรือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุปัจจัย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุปัจจัยที่อาศัยกัน หรือเกี่ยวโยงกันอย่างเป็นกระบวนการ กระบวนการดังกล่าวเริ่มขึ้นและจบลงที่ชีวิตของแต่ละคนนั้นเอง กระบวนการเกิดขึ้นและดับไปของทุกข์ดังกล่าว พุทธศาสนา เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” เมื่อนำเอากระบวนการปฏิจจสมุปบาทไปอธิบายกระบวนการเกิดและการดับไปของทุกข์ ท่านเรียกว่า “อริยสัจสี่” นั่นเอง
กล่าวโดยสรุป พุทธศาสนา ถือว่า ที่มาของความสุขหรือความทุกข์ของชีวิต ก็คือ ตัวชีวิต นั่นเอง ไม่ใช่มาจากการกำหนดหรือการบันดาลจากสิ่งภายนอกใดๆ เพราะชีวิตมีลักษณะของทุกข์ติดมาตั้งแต่เกิดแล้ว ฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักบริหารชีวิตให้ดี ไม่รู้จักวิธีแก้ทุกข์อย่างถูกต้องแล้ว ชีวิตก็จะมีทุกข์มากยิ่งขึ้น แต่ ถ้ารู้จักบริหารชีวิตให้ดี รู้จักวิธีแก้ทุกข์อย่างถูกต้อง ก็สามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีทุกข์น้อยลง จนถึงไม่มีทุกข์เลยก็ได้
คำสอนในเรื่อง “อริยสัจสี่” เป็นการแสดงให้เห็นถึง ภาพรวมของชีวิต ในบางพระสูตร พระพุทธองค์ ได้ทรงจำแนกให้เห็น ความทุกข์ และ ความสุขของชีวิตในระดับต่างๆ เช่นใน อิณสูตร ทรงแสดงให้เห็นว่า ความทุกข์ของชาวโลก (กามโภคี) มี 6 อย่าง คือ 1.ความจน 2.การเป็นหนี้ 3.การเสียดอกเบี้ย 4.การถูกทวงดอกเบี้ย 5.การถูกทวงหนี้ 6.การถูกจองจำ
ในพระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตทางโลก นั้น พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ ปัญหาเรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก และถือว่า เศรษฐกิจเป็นที่มาของความทุกข์สำหรับชีวิตทางโลกเป็นอันดับแรก กล่าวโดยย่อคือ ความจนคือความยากไร้ด้วยปัจจัย 4 เป็นความทุกข์สำหรับชาวโลก
เมื่อทรงชี้ให้เห็นว่า ความยากจนเป็นทุกข์ แล้ว พระพุทธองค์ ก็ทรงแสดงทางออกให้เห็นว่า ความยากจนนั้นสามารถแก้ไขได้ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” คือ 1.ขยันทำงาน 2.รู้จักเก็บออม 3.คบแต่เพื่อนดี 4.เป็นอยู่พอควรแก่ฐานะ
สำหรับ ชีวิตในทางธรรม หรือ นักบวช นั้น พระพุทธองค์ ก็ทรงแสดงไว้เช่นกันว่า ความไม่มีคุณธรรม ถือเป็นความยากจนในทางธรรม ผู้มีชีวิตอยู่ในทางธรรมด้วยความจน ก็ย่อมจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์เช่นเดียวกัน ผู้ที่ไม่มีสัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ชื่อว่า เป็นคนจนในทางธรรม และคนจนในทางธรรมนั้น 1.ย่อมจะกู้หนี้ คือทำชั่วทางกาย วาจา ใจ 2.ต้องเสียดอก คือคอยปกปิดความชั่วของตัวเอง 3.ต้องถูกทวงดอก คือถูกคนติเตียน 4.ต้องถูกทวงหนี้ คืออกุศลวิตกครอบงำ 5.ต้องถูกจองจำ คือตายแล้วไปอบายภูมิ
ในเรื่อง ความสุขของชีวิต นั้น พระพุทธศาสนา ได้แสดงไว้ 2 นัย คือ นัยแรก พูดถึง การดับทุกข์ หมายความว่า เมื่อทุกข์ดับ ความสุขก็เกิดขึ้น ดับทุกข์ได้มากก็มีความสุขมาก ดับทุกข์ได้น้อยก็มีความสุขน้อย ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงก็มีความสุขสมบูรณ์ ความสุขก็คือการลดปริมาณของความทุกข์ลงนั่นเอง ภาวะไร้ทุกข์ก็คือความสุข
นัยที่สอง พูดถึง ความสุขโดยตรง โดยจำแนกความสุขเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต่ำๆไปจนถึงระดับสูงสุด สุขทางกายสุขทางใจพร้อมกัน
สรุปว่า ถ้าอยากให้ชีวิตนี้มีความสุขมาก มีทุกข์น้อย ก็ควรศึกษาเรียนรู้ว่า ความทุกข์คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับได้อย่างไร ด้วยวิธีใด และ ความสุขคืออะไร เป็นอย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร สุขประเภทใดควรเสพหรือไม่ควรเสพ แล้วท่านผู้อ่านจะมีความสุขในชีวิตมากขึ้นๆ ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่ความสุขครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1665025