ข่าวพระพุทธศาสนา

พระพุทธรูปปางต่างๆ และความเป็นมาของปางพระพุทธรูป

พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต

พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ(Meditation) พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้น ตั้งฝ่าพระหัตถ์เสมอเสมอพระอุระ (อก) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย อันเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต
ความเป็นมาของปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์จนมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาจึงเสด็จลงจากหลังม้า ประทับเหนือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งแก่นายฉันนะว่าพระองค์จักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้ ให้นำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติ

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส

พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส
พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิแบพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดข้าวมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท
ความเป็นมาของปางรับมธุปายาส
เช้าวันเพ็ญวิสาขะ หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ปีระกา) อันเป็นวันครบรอบพระชนมายุ 35 พรรษาของพระบรมโพธิสัตว์ นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาสมาแก้บนต่อรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่
ครั้นแลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร ทรงมีรัศมีออกจากพระวรกายแผ่ซ่านไปทั่วปริมณฑล เข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมกับถาดทองคำ พระองค์ทรงแบพระหัตถ์ทั้งสองออกรับถาดข้าวมธุปายาส

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา

พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา
พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้า เป็นกิริยาทรงรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นพระอิริยาบถทรงถือหญ้าคาก็มี บางแบบมีรูปพราหมณ์กำลังยื่นหญ้าคาถวายด้วย
ความเป็นมาของปางรับหญ้าคา
พระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำดังอธิษฐาน จึงทรงโสมนัส (ดีใจ) เสด็จสู่ร่มสาละ ครั้นถึงเวลาบ่ายได้เสด็จกลับไปยังอัสสัตถโพธิพฤกษ์มณฑล (ร่มโพธิ์) ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ถือหญ้ากุสะ (หญ้าคา) 8 กำ เดินสวนทางมา โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสในพระสิริที่งามสง่าของพระบรมโพธิสัตว์จึงน้อมถวายหญ้ากุสะทั้ง 8 กำ

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี บางแห่งทำรูปแม่พระธรณีนั่งบีบมวยผมประกอบ นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ความเป็นมาของปางมารวิชัย
ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมขล์ 150 โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อมนำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามั่วดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ทรงกล่าวว่า รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำกรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น

 

 

 

พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้

พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้
พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) สมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางสมาธิหรือปางตรัสรู้
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์มีชัยชนะเหนือพญามารแล้ว ทรงบำเพ็ญสมาธิต่อไป เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากอุปกิเลสแล้ว ในปฐมยามทรงบรรลุจตูปปาตญาณ คือสามารถหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วตายไป ประสบสุขและทุกข์ตามกรรมที่ทำไว้ และในปัจฉิมยามพระองค์ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงทำอาสวกิเลสทั้งหลายให้ดับสิ้นไป จนได้บรรลุอนุตสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุโณทัย ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางวายเนตร

พระพุทธรูปปางวายเนตร
พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเมตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอากาศสังวรพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์
ความเป็นมาของปางถวายเนตร
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ร่มต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน จากนั้นเสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน โดยไม่กะพริบพระเนตรเลย เพื่อบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ได้นามว่า “อนิมิสเจดียสถาน”

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว

พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว
พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิในเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ (เข่า) บางแบบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถขัดสมาธิเพชรในเรือนแก้ว
ความเป็นมาของปางเรือนแก้ว
ในสัปดาห์ที่ 4 จากวันตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา 7 วัน สถานที่นั้นเรียกว่า “รัตนฆรเจดีย์” ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 1 – 3 พระฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ 4 เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงโอภาสออกมาจากพระวรกาย

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางนาคปรก

พระพุทธรูปปางนาคปรก
พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
ความเป็นมาของปางนาคปรก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากใต้ต้นไทร เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่ตลอด 7 วันไม่ขาดสาย พญานาคราชชื่อมุจลินทร์ ราชาแห่งนาคพิภพได้ขึ้นมาจากบาดาล ขนดกายเป็นพุทธบัลลังก์ แล้วแผ่พังพานเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระพุทธองค์ ปกป้องมิให้ลมฝน ยุง เหลือบ ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานมาต้องพระวรกาย เมื่อฝนหยุด พญานาคราชจึงจำแลงกายเป็นชายหนุ่มมาถวายนมัสการต่อพระพุทธองค์

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางประสานบาตร

พระพุทธรูปปางประสานบาตร
พระพุทธรูปปางประสานบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิมีบาตรวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร คว่ำพระหัตถ์ขวายกขึ้นไปปิดปากบาตร
ความเป็นมาของปางประสานบาตร
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 49 วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง 4 ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางรำพึง

พระพุทธรูปปางรำพึง
พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางรำพึง
ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บุคคลในดลกนี้เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า ดังนี้ คือ
1. อุคฆิฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้เร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
2. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
3. เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
4. ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่าจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า

 

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง
ความเป็นมาของปางห้ามสมุทร
ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการ เพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายความพยศลง พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกรมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง เหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์จึงยอมรับในพุทธานุภาพ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางประทานโอวาท

พระพุทธรูปปางประทานโอวาท
พระพุทธรูปปางประธานโอวาทหรือปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ (อก) เป็นกิริยาทรงประทานโอวาทปาติโมกข์
ความเป็นมาของปางประทานโอวาท
ณ พระเวฬวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประมาณ 9 เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ครบองค์ 4 ได้แก่
1. วันนั้นเป็นวันดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน 3 )
2. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6
4. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง ในวันนั้นพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ใจความสำคัญแห่งพระโอวาทนั้น ได้แก่ ละเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส วันเพ็ญเดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “วันมาฆบูชา”

 

 

พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์

พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้าง พระวรกาย บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงตามปกติ บางแบบพักพระชานุ (เข่า)
ความเป็นมาของปางแสดงปาฏิหาริย์
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติครั้งแรก พระญาติผู้ใหญ่ไม่ทำความเคารพ เพื่อทำให้พระญาติเหล่านั้นลดทิฐิมานะลง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ โดยเหาะขึ้นไปบนอากาศ ประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทได้หล่นสู่เศียรเกล้าของเหล่าพระประยูรญาติ พระเจ้าสุทโธทนะขึงประณมพระหัตถ์แล้วกราบทูลว่า “เมื่อพระองค์ประสูติวันแรก หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงพามานมัสการกาฬเทวิลดาบส พระองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ขึ้นไปสถิตอยู่บนชฎาของดาบส หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งแรก ครั้งถึงงานพระราชพิธีวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระองค์ประทับ ณ ใต้ต้นหว้า เงาร่มไม้หว้านั้นก็มิได้เลื่อนขยับไปตามแนวดวงตะวันแม้เป็นเวลาบ่าย หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่หม่อมฉันถวายนมัสการ “ เหล่าพระประยูรญาติจึงคลายทิฐิมานะ ถวายนมัสการพระพุทธองค์ ด้วยบุญญาภินิหาร พลันเกิดมหาเมฆขึ้นในอวกาศ ยังผลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา น้ำฝนโบกขรพรรษนี้มีสีแดง ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกายจึงจะเปียก หากไม่ปรารถนาก็ไม่เปียก เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ฝนโบกขรพรรษนี้ก็เคยตกมาแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดชาดกแก่พระประยูรญาติ

 

 

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอวมีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง
ความเป็นมาของปางอุ้มบาตร
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงเวสสันดรชาดกแล้ว เหล่าพระประยูรญาติต่างถวายนมัสการทูลลากลับสู่พระราชสถาน แต่ไม่มีใครทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้รับภัตตาหารเช้าเลย โดยเข้าใจเอาเองว่า คงเสด็จไปเสวยภัตตาหารในพระราชนิเวสน์ ครั้งถึงรุ่งเช้า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อน เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระนครของพุทธบิดา ได้เสด็จบิณฑบาตเพื่อโปรดมหาชน พระพุทธองค์จึงออกบิณฑบาตตามประเพณี

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา
พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์
ความเป็นมาของปางโปรดพุทธบิดา
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นว่าเป็นการเสื่อมพระเกียรติของโอรสกษัตริย์ พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่าเป็นพุทธประเพณี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตต่างก็ดำรงพระชนม์ชีพด้วยอาหารบิณฑบาต จากนั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาอริยวังสิกสูตรแก่พุทธบิดา ความว่า เป็นบรรพชิตไม่ควรประมาทในอาหารผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมประสบสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อจบพระธรรมเทศนาพุทธบิดาก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน และกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับอาหารบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุอรหัตผลในเวลาต่อมา

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางเปิดโลก

พระพุทธรูปปางเปิดโลก
พระพุทธรูปปางเปิดโลก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองหันออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกบางแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น
ความเป็นมาของปางเปิดโลก
เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พระพุทธองค์ทรงทำโลกวิวรณปาฏิหาริย์ คือ ทรงเปิดโลกทั้ง 3 อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ เหล่าเทวดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์มองเห็นเทวดาและสัตว์นรก สัตว์นรกมองเห็นมนุษย์และเทวดา แล้วจึงเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่สังกัสสนครในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทร์

พระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทร์
พระพุทธรูปางห้ามแก่นจันทร์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวาลงข้างพระวรกาย ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) และยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม
ความเป็นมาของปางห้ามแก่นจันทร์
เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น มีตำนานกล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์แห่งนครสาวัตถีทรงรำลึกถึงพระพุทธองค์มาก ด้วยความเคารพรักและศรัทธาจึงสั่งให้ช่างหลวงทำพระพุทธรูปลักษณะคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยไม้แก่นจันทร์หอมอย่างดี ประดิษฐานไว้ในพระราชนิเวศน์เพื่อสักการบูชา พระไม้แก่นจันทร์องค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร

พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร
พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ไขว้พระชงฆ์ (แข้ง) หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฝ่าพระหัตถ์วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับนพระหัตถ์ซ้าย
ความเป็นมาของปางสมาธิเพชร
หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์รับหญ้าคาจากโสตถิยพราหมณ์แล้ว ทรงนำไปปูต่างบัลลังก์ ณ ควงไม้อัสสัตถโพธิพฤกษ์ แล้วประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ อธิษฐานว่า “เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะเหือดแห้งไปหมดส้น จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ถ้าเรายังไม่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้

 

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองวางที่พระเพลา (ตัก) บางแบบประสานพระหัตถ์วางที่พระเพลา พระบาทซ้ายทรงเหยียบหลังพระบาทขวา เป็นกิริยากดพระบาท
ความเป็นมาของปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ 3 เหตุการณ์ดังนี้ คือ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเขาสัจพันธ์ ทรงหยุดบุษบกอยู่บนอากาศ เพื่อทรมานสัจพันธ์ฤาษีให้ละมิจฉาทิฐิ จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วขึ้นบุษบกตามเสด็จไปยังสถานที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จ พญานาคราชทูลขอให้ประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ริมฝั่งนัมทามหานที ครั้งที่ 2 เมื่อเสด็จกลับมาถึงเขาสัจพันธ์ ได้ตรัสสั่งพระสัจพันธ์ให้พักอยู่ที่เขาแห่งนี้ เพื่อปลดเปลื้องผู้ที่พระสัจพันธ์เคยสอนสัทธิผิดๆ ไว้ ให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หลังหิน ตามที่พระสัจพันธ์ทูลขอไว้ และครั้งที่ 3 ในพระนครโกสัมพี มีพราหมณ์ชื่อว่า มาคันทิยะ มีธิดาสาวสวยชื่อว่า มาคันทิยา มาคันทิยะได้เห้นพระพุทธองค์ซึ่งงามพร้อมด้วยมหาบุรุษลักษณะทุกประการ จึงนำลูกสาวมาถวาย พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาให้ปรากฏยังพื้นดิน แล้วเสด็จจากไปประทับอยู่ในบริเวณนั้น พราหมณีภรรยามาคันทิยพราหมณ์ เห็นรอยพระพุทธบาทแล้วทราบทันทีว่ารอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนสละกามได้แก้ว ต่อมาทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ทั้งสองจนได้เป็นพระอนาคามี

 

 

พระพุทธรูปปางชี้มาร
พระพุทธรูปปางชี้มาร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพักตร์ ชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้า
ความเป็นมาของปางชี้มาร
พระโคธิกเถระปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ มารคิดว่าวิญญาณของท่านเพิ่งออกจากร่างจึงแฝงกายเข้าไปในก้อนเมฆ เที่ยวตามหาวิญญาณของท่านแต่ไม่พบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ชี้มารให้ภิกษุทั้งหลายดูและตรัสบอกภิกษุว่า “มารผู้มีใจบาปกำลังแสวงหาวิญญาณพระโคธิกะอยู่ แต่ไม่มีวิญญาณของพระเถระอยู่ในที่นั่น ด้วยเธอได้นิพพานแล้ว” เมื่อมารค้นหาวิญญาณของพระโคธิกเถระไม่พบจึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์มารทูลถามว่า พระโคธิกะอยู่ที่ใด เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระโคธิกะนิพพานแล้ว มารตกตะลึงด้วยคาดไม่ถึงอันตรธานหายวันไปในทันที พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้มีศีลบริสุทธิ์อยู่ด้วยความไม่ประมาทย่อมถึงวิมุตติ เพราะฌานหยั่งรู้ชอบแล้วมารจะไม่ประสบทางของท่านได้เลย”

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ

พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ
พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า
ความเป็นมาของปางปฐมบัญญัติ
ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นครเวสาลี สุทินกลันทบุตร ได้ฟังพระธรรมเทศนาบังเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่บิดามารดาอยากให้สึกมาดูแลสมบัติของตระกูล พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์ บิดาจึงขอทายาทเพราะหากไม่มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินจะถูกยึดตามธรรมเนียม พระสุทินจึงได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าตามคำขอร้องและได้บุตรชายคนหนึ่ง ต่อมาท่านรู้สึกไม่สบายใจจึงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ความทราบถึงพระพุทธองค์ ทรงติเตียนพระสุทินที่ทำกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งแก่สมณะ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ภิกษุเสพเมถุนต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที” นับเป็นปฐมบัญญัติ คือ ข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ การประพฤติของพระสุทินสมัยนั้นถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาผิด เพราะยังไม่มีสิกขาบทห้ามไว้ แต่ถ้าภิกษุใดทำเช่นนี้อีก ถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางประทานพร
พระพุทธรูปปางประทานพร (นั่ง) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) แบฝ่าพระหัตถ์ขวายื่นออกไปวางที่พระชานุ (เข่า)
ความเป็นมาของปางประทานพร
เมื่อครั้งพระอานนท์ถูกสงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านได้ขอพร 8 ประการ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร 4 ข้อแรก ได้แก่ ไม่ประทานจีวรอันประณีตแก่ท่าน ไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้มาแก่ท่าน ไม่ประทานให้ท่านอยู่คันธกุฎีเดียวกับพระพุทธองค์ และไม่ทรงพาท่านไปในที่นิมนต์ ส่วน 4 ข้อหลังนั้น ได้แก่ ขอให้พระพุทธองค์ไปในที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้ ถ้าท่านนำพุทธบริษัทมาจากแดนไหลขอให้ได้เข้าเฝ้าทันที ถ้าท่านมีความสงสัยขอให้ถามได้ทันที และข้อสุดท้ายคือ ถ้าพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมที่ไหน ถ้าท่านไม่ได้ฟัง ขอให้แสดงแก่ท่านอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันคำครหาว่า ท่านอุปัฏฐากแล้วไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากพระพุทธองค์เลย พระพุทธองค์ได้ประทานพรทั้ง 8 ประการแก่พระอานนท์

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง

 

พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง
พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง อยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์
ความเป็นมาของปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง
พญาชมพูบดีผู้มีฤทธิ์เดชมาก มีความริษยาพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงมีปราสาทงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงมารุกรานข่มเหงจนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นพรราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมา พญาชมพูบดีตกตะลึงในความงามและความยิ่งใหญ่แห่งพระนครของพระเจ้าราชาธิราช พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงฤทธิ์ แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพระพุทธองค์ จึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรดจนพญาชมพูบดีเพื่อหน่ายในราชสมบัติอันไม่ยั่งยืน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี

 

 

 

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์
พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
ความเป็นมาของปางปาลิไลยก์
ครั้งหนึ่งพระภิกษุในวัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติตนเป็นผู้ว่าสอนยาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระอาพระทัย จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะและลิงตัวหนึ่งเป็นอุปัฏฐาก ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ให้เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร หลังจากพระพุทธองค์เสด็จกลับ พญาช้างเสียใจล้มลงขาดใจตาย บรรดาพระภิกษุผู้ว่ายาก เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร

พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร
พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย
ความเป็นมาของปางโปรดองคุลิมาลโจร
อหิงสกกุมารบุตรพราหมณ์ปุโรหิตแห่งนครสาวัตถี ได้ศึกษาสรรพวิชาอยู่ ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ผู้เป็นอาจารย์ถูกยุยงว่า อหิงสกะหมายล้มล้างตน จึงหาทางกำจัดโดยยืมมือผู้อื่นฆ่า และบอกว่าจะสอน “วิษณุมนต์” ให้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้วจากหนึ่งพันคนมาบูชาครู พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณว่า อหิงสกะ หรือองคุลิมาลโจรหรือจอมโจรผู้มีนิ้วมือเป้นมาลัยกำลังจะทำกรรมหนักเพราะกำลังจะฆ่ามารดา จึงเสด็จไปขวางทาง องคุลิมาลโจรตะโกนว่า “หยุดก่อนสมณะ” พระพุทธองค์รับสั่งว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละยังไม่หยุด” พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมจนองคุลิมาลทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์จึงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้องคุลิมาลได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมา

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางประทานอภัย

พระพุทธรูปปางประทานอภัย
พระพุทธรูปปางประทานอภัย (นั่ง) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองเบนไปข้าวหน้าเล็กน้อย บางแบบเป็นพระอิริยาบถยืน
ความเป็นมาของปางประทานอภัย
พระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ถูกพระเทวทัตยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าอชาตศัตรูยังทรงช่วยสนับสนุนพระเทวทัต ส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังสำนึกตัว จึงเสด็จมาสารภาพความผิดของตน และขอพระราชทานอภัยโทษกับพระพุทธองค์ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด หันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 1

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม

พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม
พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง
ความเป็นมาของปางพิจารณาชราธรรม
วันหนึ่งในพรรษาที่ 45 พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปราศรัยเรื่องชราธรรมกับพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ บัดนี้เราชราภาพล่วงกาลผ่านวัยจนพระชนมายุล่วงเข้า 80 ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่ อันมิใช่สัมภาระแห่งเกวียนนั้น ดูก่อนอานนท์ เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือไม่ให้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสีย และหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตสมาธิ เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบายตลอดกาย ดูก่อนอานนท์ เพราะธรรม คือนิมิตสมาธิธรรมนั้นมีความผาสุก ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกราะ มีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด”

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต

พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต
พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า)
ความเป็นมาของปางแสดงโอฬาริกนิมิต
ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จไปประทับที่ ปาวาลเจดีย์ และทรงแสดงโอฬาริกนิมิต คือ ตรัสให้พระอานนท์ทราบว่าผู้ใดเจริญอิทธิบาทภาวนา หรืออิทธิบาท 4 ได้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถึงกัปหนึ่ง หรือเกินกว่าตามประสงค์ แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงนิมิตถึง 3 หน แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดกัปเพราะถูกมารดลใจ พระพุทธองค์ทรงเคยแสดงนิมิตทำนองนี้ในสถานที่ต่างๆ ถึง 16 ครั้ง (อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางห้ามมาร

พระพุทธรูปปางห้ามมาร
พระพุทธรูปปางห้ามมาร พระพุทะรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นห้องเสมอพระอุระ (อก) แสดงอาการห้าม
ความเป็นมาของปางห้ามมาร
หลังจากทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดาทั้ง 3 ของพญามาร คือ นางราคา นางตัณหา นางอรดี ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์ ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีสวยงามในวัยต่างๆ ตลอดจนแสดงอิตถีมายาโดยการฟ้อนรำขับร้อง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดาทั้ง 3 ของพญามารถให้หลีกไป

 

 

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร

พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร
พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ (เข่า) บางแบบวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นทาบที่พระอุระ (อก) เป็นการลูบพระวรกาย
ความเป็นมาของปางปลงอายุสังขาร
เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ ปาวาลเจดีย์ มารมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ก็เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหวกลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พระอานนท์บังเกิดความพิศวงในบุพพนิมิตจึงทูลถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอัศจรรย์นี้ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ได้ปลงอายุสังขารแล้ว ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน จะปรินิพพาน พระอานนท์จึงทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์ตรัสว่าได้ทรงแสดงโอฬาริกนิมิตถึง 16 ครั้ง แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่เสมอ และบัดนี้พญามารได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์ได้สละแล้ว จะนำสิ่งนั้นกลับมาอีกด้วยเหตุใด

 

 

 

 

พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์

พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์
พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์ พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางที่พระอุทร (ท้อง)
ความเป็นมาของปางทรงพยากรณ์
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระอานนท์เศร้าโศกเสียใจมาก จึงแอบไปยืนร้องไห้อยู่เพียงลำพัง พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งมีเกิดในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลางและดับสลายลงในที่สุด ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจนั้นเป็นของธรรมดา ให้ละความเศร้าโศก และตั้งใจปฏิบัติธรรม จากนั้นทรงสรรเสริญความดีของพระอานนท์และทรงตรัสพยากรณ์ว่า พระอานนท์จักบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำปฐมสังคายนา

 

 

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน
พระพุทธรูปางปรินิพพาน พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา
ความเป็นมาของปางปรินิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน 6) ก่อนพุทธศักราช 1 ปี การถวายพระเพลิงได้จัดขึ้น ณ มกุฎพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (วันอัฎฐมี) หลังจากถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว 3 เดือน คณะสงฆ์ได้สังคายนาพระไตรปิฎก การทำปฐมสังคายนาใช้เวลา 7 เดือน

 

 

 

แหล่งที่มา : dmc.tv http://dmc.tv/a16847

ภาพ : วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรวิหาร จังหวัดนครปฐม
บทความจาก : หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำสอน

มูลนิธิรักษ์ธรรม มีวัตถุประสงค์ย่อดังนี้ ศึกษาและบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมและสนับสนุนในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นทุนภัตตาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล พระภิกษุ สามเณร เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
๙๘/๖๙ หมู่ที่ ๑๓ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ๑๒๑๒๐
โทรศัพท์ : 02-711-5997-8
อีเมล์ : Raksdhamma_foundation@hotmail.com